คุณค่าที่ได้รับจากนาฏศิลป์ไทย
|
นาฏศิลป์ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของมนุษยชาติ
ควรที่มนุษย์ควรรู้จัก เข้าใจศึกษา และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
แก่ผู้อื่น และแก่สังคมโดยส่วนรวม โดยพิจารณาว่า นาฏศิลป์มีส่วนใดบ้างในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
ทั้งที่เป็นกิจกรรมส่วนตัวและส่วนรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มนุษย์ได้ใช้นาฏศิลป์เป็นกิจกรรมส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตในเวลาปกติ
และในโอกาสพิเศษอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจสรุปได้ว่า มนุษย์เราได้รับคุณค่าจากนาฏศิลป์ไทย
ดังนี้
๑.เพื่อการสื่อสาร นาฏศิลป์เป็นกระบวนการหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร ธรรมชาติเอื้อให้มนุษย์ใช้ร่างกายประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้การเล่าเรื่องตื่นเต้นสนุกสนาน นาฏศิลป์ได้พัฒนาต่อมาโดยที่มนุษย์เลือกสรรและสร้างสรรค์ท่าทางต่างๆ ให้มีความหมายเฉพาะที่เข้าใจและสื่อสารกันได้ในกลุ่มชนนั้นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่านาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า“ภาษาท่ารำ”โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร ๒. เพื่องานพิธีกรรมต่างๆ นาฏศิลป์ใช้เป็นเครื่องดนตรีที่พลังพิเศษ หรือเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติในตัวเองของผู้ทำหน้าที่เป็นพ่อมดหรือหมอผี หรืออีกนัยหนึ่งคนเหล่านี้ใช้นาฏศิลป์สื่อสารกับพลังเหนือธรรมชาติให้เข้ามาสิงสถิตในตนเองหรือผ่านตนไปยังสิ่งที่ต้องการรับอิทธิพลเหล่านั้นการฟ้อนรำในลักษณะนี้มักเป็นการแสดงเดี่ยว แต่ในบางครั้งบางแห่งก็มีการแสดงเป็นกลุ่ม การฟ้อนรำในพิธีผีฟ้าในภาคเหนือ เพื่อรักษาโรคหรือสะเดาะเคราะห์ จะเริ่มด้วยพิธีกรหญิงฟ้อนนำในลักษณะเข้าทรง แล้วผู้ที่เคยรักษาหายมาก่อนซึ่งมักมาร่วมงานเพื่อร่วมให้พลังใจก็จะลุกขึ้นรำตาม ฟ้อนผีมดผีเม็งในภาคเหนือจะมีบรรดาสมาชิกหญิงมาเข้าทรงเป็นหมู่และฟ้อนรำร่วมกัน เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือรักษาโรค และพิธีกรรมอีกลักษณะหนึ่ง คือ การฟ้อนรำเพื่อบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมิได้เข้าทรง แต่เป็นการแสดงที่เน้นความงดงาม เช่น การรำแก้บนที่ศาลพระพรหมแยกราชราชประสงค์ การแสดงเหล่านี้เป็นการแสดงแก้บนซึ่งอาจเป็นรูปของการแสดงแก้บน ลิเกแก้บน และการฟ้อนรำ อีกลักษณะหนึ่งเป็นการฟ้อนรำบูชาแต่ไม่ได้แก้บนใดๆ แต่เป็นการฟ้อนบูชาครู หรือเป็นพุทธบูชา เช่นการรำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย หรือการรำไหว้ครูมวยก่อนการชกเป็นต้น ๓. เพื่องานพิธีการต่างๆ ในสังคมหนึ่งย่อมมีพิธีการต่างๆ ของมนุษย์ แต่ละพิธีการมีความสัมพันธ์แตกต่างกันออกไป เช่น พิธีการต้อนรับแขกเมืองสำคัญ พิธีแห่เทวรูปที่เคารพประจำปีเพื่อเป็นสิริมงคล พิธีฉลองงานสำคัญเช่นงานวันเกิดงานวันครบรอบเป็นต้น พิธีที่กล่าวมานี้นิยมจัดให้มีการฟ้อนรำขึ้น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คือ การฟ้อนรำเป็นขบวนแห่ไปตามทางและการฟ้อนรำบนเวที ขบวนฟ้อนรำจะปรากฏในพิธีการ เช่น การฟ้อนบายศรีสู่ขวัญโดยเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งชายและหญิงเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีฟ้อนรำแสดงชุดพระถังซัมจั๋งไปอัญเชิญพระไตรปิฏกจากอินเดียในงานตรุษจีนที่นครสวรรค์ การฟ้อนรำในพิธีเซิ้งบั้งไฟขอฝนทางภาคอีสาน การฟ้อนรำหน้าขบวนแห่นาค ประหนึ่งจำลองมารผจญพระพุทธเจ้าก่อนจะเข้าพระอุโบสถ การฟ้อนรำขันโตกเพื่อนำอาหารมาในพิธีขันโตกรับแขกสำคัญสำคัญของเมืองเหนือ ส่วนการฟ้อนรำบนเวที เช่น การรำอวยพรวันเกิด การรำเบิกโรงก่อนแสดงละคร และการฟ้อนรำในพิธีเปิดเทศกาลกีฬาต่างๆ ๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์ มนุษย์มักมีการพบปะสังสรรค์กันในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ เช่น การจัดงานรื่นเริงตามฤดูกาล เพื่อเฉลิมฉลองเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอันเหน็ดเหนื่อย และเก็บเกี่ยวได้ผลดี หรือการฉลองเริ่มฤดูฝนอันเป็นนิมิตรแห่งการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก ในรอบปีหนึ่ง มีเทศกาลสำคัญหลายครั้ง อาทิ งานรำลึกถึงบรรพบุรุษ หรือเหตุการณ์สำคัญในอดีต งานรื่นเริงหรืองานรำลึกเหล่านี้มักจะมีการเฉลิมฉลองต่างๆ นาฏศิลป์ให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงานต่างๆ เช่น การรำอวยพรในวันเกิด ในงานรื่นเริงต่างๆ ๕. เพื่อการออกกำลังกายและพัฒนาบุคลิกภาพ การฝึกหัดรำไทยต้องอาศัยกำลังในการฝึกซ้อมและ ในการแสดงอย่างมาก เหมือนกับได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นหรือบำบัดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เครียด เป็นการสร้างเสริมบุคลิกภาพและมีการทรงตัวที่สง่างามด้วย ๖. เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฏศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดงและเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=11816
|